วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting)

เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting)

เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการใช้งานอินเทอร์เน็ต สำหรับ ประเทศไทยกลุ่มแรกที่ใช้เว็บโฮสติ้งจะเป็นมหาวิทยาลัยได้มีการเชื่อมต่อผ่านทางการสื่อสารแห่งประเทศไทย ให้บริการเฉพาะสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและบริษัทหรือ องค์กรขนาดเล็ก โดยไม่ได้หวังผลกำไร ต่อมาเว็บโฮสติ้งมีรูปแบบการให้บริการใน เชิงพาณิชย์และ เปิดบริการแบบเสรี โดยมีการกระจายการให้บริการออกมายัง กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ด้วยเหตุผลทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและธุรกิจในการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้นนั่นเอง ในปัจจุบันการให้บริการเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) มีสองประเภท คือ การให้ใช้บริการฟรี และการให้ใช้บริการที่ต้องเสียค่าบริการ

ความหมายของเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting)
คำว่าเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) หรือ เซิฟเวอร์ (Server) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เว็บโฮสท์ (WebHost) หรือ โฮสท์ (Host) มีผู้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้
น้ำทิพย์ วิภาวิน (2549, หน้า 55-56) กล่าวว่า “เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) คือ คอมพิวเตอร์ ที่ได้ติดตั้งโปรแกรมบริการเว็บเอาไว้และได้มีการเชื่อมต่อ Online ระบบอินเทอร์เน็ต ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้เข้าชมทั่วโลกสามารถเปิดดูเว็บไซต์ได้ตลอดเวลา”
(เว็บไทยโซน, 2007) ให้ความหมายว่า “เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) คือ พื้นที่การใช้งาน ในอินเทอร์เน็ต มีลักษณะที่เปรียบเหมือนกับฮาร์ดดิสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ มีรูปแบบ การให้บริการที่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการสามารถนำเว็บเพจของตนเองขึ้นไป Online บนอินเทอร์เน็ตได้ ทุกเว็บ เพจที่ออนไลน์บนอินเตอร์เน็ตจะต้องได้รับการฝากหรือเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเข้าถึงได้ทุกที่ที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต”
(บริษัท ไอเดียล ครีเอชั่น เซ็นเตอร์, 2007) ให้ความหมายว่า “เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) หมายถึง รูปแบบการให้บริการที่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการสามารถนำเว็บเพจของตนเองขึ้นไป Online บนอินเทอร์เน็ตได้ซึ่งเว็บโฮสติ้งนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า “HSP” ย่อมาจาก Hosting Service Provider หรือผู้ให้บริการ เว็บโฮสติ้งทำเป็นธุรกิจ ที่นำเอาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับงานสร้างเว็บไซต์มาให้บริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เว็บไซต์นั้นสามารถออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเข้าถึงได้ทั่วโลกที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต”

จากความหมายข้างต้น สรุปได้ว่า เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) เป็นรูปแบบการให้บริการที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถนำเว็บเพจของตนเองขึ้นไปออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้าถึงได้ ตลอด 24 ชั่วโมง และเข้าถึงได้ทั่วโลกที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตง่าย ๆ แค่พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ของคุณ (Domain Name) ตัวอย่างเช่น htt://www.yourcompany.com/ ผู้ให้บริการจะทำการติดตั้งระบบทั้งหมดให้คุณ เมื่อมีบุคคลที่พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ของคุณ (Web address) ชื่อนั้นจะถูกส่งตามเส้นทางจากเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไปพบเครื่องเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่คุณฝากเว็บไซต์ไว้ (Host computer) ในเวลาเพียงเสี้ยวนาที

โดเมนเนม (Domain Name)
โดเมนเนม (Domain Name) ที่อยู่คล้าย ๆ กับที่อยู่ของบ้าน หรือที่ทำงาน โดยเปรียบเทียบเป็นที่อยู่ทางอินเตอร์เน็ตนั่นเอง โดเมนเนมจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนและเครื่องคอมพิวเตอร์รู้ว่าอยู่ที่ไหนเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เป็นเหมือนบ้านเลขที่ และโดเมนเนมแต่ละชื่อจะไม่ซ้ำกัน นั่นหมายถึงว่า ชื่อโดเมนของเราจะต้องไม่ซ้ำกับของคนอื่นแน่นอน

การขอจดโดเมนเนม การขอจดโดเมนเนมนั้น สามารถขอจดได้โดยที่ไม่ต้องทำเว็บไซต์ ฉะนั้นผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง สามารถของจดโดเมนเนมเพื่อสงวนชื่อบริษัทห้างร้านของตนเองไว้ก่อนได้ ทั้งยังป้องกันมิให้ผู้อื่นมายื่นขอจดไปก่อน เรียกว่า Domain Parking

ขั้นตอนการขอจดโดเมนเนม
การเลือกโดเมนเนมนั้น จำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่า โดเมนเนมมีองค์ประกอบหลายส่วนดังนี้ www.kingdomplaza.com
ส่วนที่ 1 ส่วนที่ 2 ส่วนที่3
ส่วนที่ 1 สับโดเมน ( Sub Domain Name ) คือ คำที่อยู่ก่อนชื่อโดเมนเนม
ส่วนที่ 2 Second-Level Domain Name ในส่วนนี้จะเป็นชื่ออะไรก็ได้แต่ห้ามซ้ำกัน
ส่วนที่ 3 Top-level Domain Name จะเป็นการบอกประเภทของเว็บไซด์และรหัสประเทศ

• co.th สำหรับการพาณิชย์และธุรกิจ ผู้สมัครขอลงทะเบียนโดเมนเนมภายใต้หมวดหมู่นี้จะต้องเป็นองค์กรพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือบริษัทต่างประเทศที่มีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย และตัวแทนนั้นจะต้องจดทะเบียนในประเทศไทยและได้รับการโอนสิทธิในการลงทะเบียนโดเมนเนม จากบริษัทแม่ในต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย
• in.th สำหรับหน่วยงานทุกประเภท และบุคคลทั่วไป

• ac.th สำหรับสถาบันการศึกษา ผู้สมัครขอลงทะเบียนโดเมนเนมภายใต้หมวดหมู่นี้จะต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่จดทะเบียนในประเทศไทย

• go.th สำหรับการใช้ของภาครัฐบาล เช่น กระทรวงหรือหน่วยงานรัฐบาล ผู้สมัครขอลงทะเบียนโดเมนเนมภายใต้หมวดหมู่นี้ จะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย

• net.th สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ISP) ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดบริการจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) หรือผู้ได้รับสิทธิ์ในการให้บริการจาก ISP โดยมีหนังสือยืนยันจาก ISP นั้น ๆ
• or.th สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร

• mi.th สำหรับหน่วยงานทางทหาร

เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต ทำให้การแบ่งชื่อโดเมนตามประเภทขององค์การเริ่มไม่เพียงพอ จึงกำลังมีการพิจารณาที่จะเพิ่มชื่อโดเมนระดับบนสุดเพิ่มขึ้นอีก 7 ชื่อ รหัสโดเมน ใช้สำหรับ
firm องค์กรทางธุรกิจ
store บริษัทที่มีการค้าขายสินค้า
web สำหรับเว็บไซต์ที่เน้นทางด้าน World Wide Web
art สำหรับเว็บไซต์ทางวัฒนธรรม
into บริการสารสนเทศ
nom สำหรับเว็บไซต์เฉพาะบุคคล
rec สำหรับเว็บไซต์ด้านความบันเทิง

ในการจดโดเมนเนมในกรณีที่มีเว็บไซด์แล้ว จะต้องมี DNS Server Name ก่อน การที่ต้องทำการจดชื่อนั้นด้วยเพราะการใช้โดเมนเนมจะเป็นชื่อที่เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่สำหรับ เครื่องคอมพิวเตอร์ จะต้องมีการแปลงสัญญาณ ให้อยู่ในรูปของ IP Address ก่อน เครื่องนี้ เรียกว่า DNS Name Server มีด้วยกัน 2 ส่วน

Primary Name Server เป็นเครื่องมือหลักที่เก็บข้อมูล ชื่อ และ IP Address
Secondary Name Server เป็นเครื่องสำรองในการเก็บสำเนาข้อมูลทั้งหมดของเครื่อง Primary

ซึ่งอาจมีการสำรองมากกว่า 1 เครื่องก็ได้ โดยการจะจด DNS Name Server ได้จะต้องมี เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปิดอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือ ISP (Internet Service Procider) มหาวิทยาลัยใหญ่ บริษัทใหญ่และผู้ให้บริการรับฝากเว็บซึ่ง เรียกว่า Web Presence หรือ Web Hosting เป็นต้น

ความสำคัญของโดเมนกับการสร้างเว็บ
โดเมน (Domain Name) คือ ชื่อเว็บไซต์หรือชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกแทนเว็บไซต์นั้นๆ เปรียบเสมือนชื่อบุคคลทั่วๆไป ที่ใช้เป็นสรรพนามเรียกแทนตนเอง ที่สำคัญคือ ชื่อและนามสกุลจะต้องไม่ซ้ำกับใคร เพื่อการแสดงตัวบุคคลที่ถูกต้องชื่อโดเมนก็เช่นเดียวกัน จะต้องไม่ซ้ำเพื่อการเรียกหาเว็บไซต์ที่ต้องการ หรืออีกนัยหนึ่ง "ชื่อเว็บไซต์" ก็คือสิ่งแรกที่แสดงหรือประกาศความมีตัวตนบนอินเทอร์เน็ตให้คนทั่วไปได้รู้จัก ซึ่งสามารถมีได้ชื่อเดียวเท่านั้นทั่วโลก


การเลือกแพคเกจ
เว็บโฮสติ้งแต่ละบริษัท ก็จะมีแพคเกจให้เลือก เช่น เนื้อที่ 25MB. 50MB. 100 MB. เป็นต้น ซึ่งการเลือกแพคเกจต่างๆ นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับเว็บไซต์ด้วยว่าใช้เนื้อที่มากน้อยแค่ไหน อันนี้เนื้อที่มากราคาค่าบริการก็สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าหากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถเลือกแพคเกจต่ำที่สุด แล้วเมื่อเว็บไซต์มีเนื้อที่เต็มแล้ว ก็นำข้อมูลที่เหลือ ไปฝากตามเซิร์ฟเวอร์ฟรีต่างๆ และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ในการเลือกเว็บโฮสติ้ง คือ ต้องพิจารณาว่า เว็บไซต์ของเรา ต้องการให้คนเข้ามาชมมากน้อยแค่ไหน เพราะบางบริษัท อาจจะจำกัดการโอนถ่ายข้อมูล หรือ Data Transfer ซึ่งถ้าหากเราต้องการให้เว็บไซต์ของเรา มีผู้เข้าชมมาก แล้วเราไปเลือกโฮสติ้งที่จำกัดการโอนถ่ายข้อมูลต่อเดือน ก็อาจเกิด ความเสียหายกับเว็บไซต์ของเราได้ เพราะเมื่อครบจำนวนการโอนถ่ายข้อมูลแล้ว ก็ไม่สามารถจะเปิดดูเว็บไซต์นั้นได้ ควรจะเลือกบริษัทโฮสติ้งที่ไม่จำกัดการโอนถ่ายข้อมูล เพราะจะช่วยให้เว็บไซต์เราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลมาได้ไม่จำกัด หากต้องการราคาที่ต่ำลงไปและมีคนเข้าชมเว็บไซต์ไม่เยอะ ก็อาจจะใช้แบบจำกัด การโอนถ่ายข้อมูลด้วยก็ได้ เพราะจะประหยัดค่าบริการได้

ความสำคัญของการจดทะเบียนชื่อโดเมน
ชื่อโดเมนหนึ่งๆ สามารถมีได้ชื่อเดียวทั่วโลก ดังนั้นหากชื่อที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเรา ถูกผู้อื่นแย่งจดไป เราก็จะเสียประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งชื่อโดเมนที่ สั้น กระชับ จดจำง่าย ก็ได้ถูกจดไปมากแล้ว ดังนั้นประเด็นที่สำคัญน่าจะอยู่ที่ความเชื่อถือ ความไว้วางใจ ระบบรักษาความปลอดภัยมากกว่า เพราะหากจดทะเบียนได้ฟรี หรือได้ราคาที่ถูกกว่า จากนายทะเบียน ท่านอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อใดที่เว็บไซต์เกิดประสบความสำเร็จ หรือมีมูลค่าขึ้นมา เช่น e-commerce, trademark, copyright เราก็จะเป็นผู้ครอบครองเองตั้งแต่ต้น
ชื่อโดเมน เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง และถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยแต่ละประเทศจะมีหน่วยงานรับผิดชอบการจดทะเบียนชื่อโดเมน เช่น ประเทศไทย รับผิดชอบโดย "ศูนย์สารสนเทศเครือข่ายประเทศไทย - THNIC : Thailand Network Information Center"

ประเภทของเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting)
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) อยู่มากมาย สามารถแบ่งประเภทของเว็บโฮสติ้ง เป็น 2 แบบ คือ
1. แบบที่ต้องเสียค่าบริการ (เรียกว่า ค่าเช่า หรือ ค่าฝากเว็บ)
2. แบบที่ให้บริการฟรี

แบบที่ต้องเสียค่าบริการ
ปัจจุบันมีการบริการแบ่งย่อยออกเป็นหลายแบบ ดังนี้
Dedicated Server คือ เช่าเหมาทั้งตัว ถ้าเปรียบเป็นอาคารก็คล้ายกับการเช่าอาคารทั้งอาคาร หรือถ้าเปรียบการบริการของเครื่องบินก็คือการเช่าแบบเหมาลำ เหมาะสำหรับเว็บไซต์ขององค์การขนาดใหญ่

Colocation คือ การที่เอาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเว็บโฮสติ้งเซิฟเวอร์ของเราเองไปฝากไว้ที่ศูนย์บริการ อินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อ Online ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเปรียบเป็นอาคารก็คล้ายกับการที่เราขอเช่าทำเลพื้นที่ แต่อาคารเป็นของบเราเอง เหมาะสำหรับเว็บไซต์ขององค์กรขนาดใหญ่มาก ๆ เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

Shared Hosting คือ การแบ่งเช่าพื้นที่บางส่วนเพื่อฝากเว็บไซต์ของเราเอาไว้ที่นั่น ถ้าเปรียบเป็นอาคารก็คล้ายกับการเช่าบางห้อง บางชั้น แบบนี้มีให้เลือกใช้ทั้งชนิด วินโดวส์ (Windows) ยูนิกซ์ (Unix) และลีนุกส์ (Linux)ซึ่งเว็บไซต์ส่วนใหญ่ใช้บริการแบบนี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่ำ เหมาะสำหรับเว็บขององค์กรตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนขนาดกลาง บริษัท ห้างร้าน โรงเรียน เว็บไซต์ส่วนบุคคล เว็บไซต์ขายสินค้า และบริการ

วินโดวส์ (Windows) คือ เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาต่อจากดอส ( (DOS) เป็นซอฟต์แวร์จัดระบบงานที่พัฒนามานานแล้ว การใช้งานจึงใช้คำสั่งเป็นตัวอักษร ดอสเป็นซอฟต์แวร์ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์) เพื่อเน้นการใช้งานที่ง่ายขึ้น สามารถทำงานหลายงานพร้อมกันได้ โดยงานแต่ละงานจะอยู่ในกรอบช่องหน้าต่างที่แสดงผลบนจอภาพ การใช้งานเน้นรูปแบบกราฟิก ผู้ใช้งานสามารถใช้เมาส์เลื่อนตัวชี้ตำแหน่งเพื่อเลือกตำแหน่งที่ปรากฏบนจอภาพ ทำให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ง่าย วินโดวส์จึงได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เช่น Windows 98 , Windows Me, Windows 2000, Windows XP เป็นต้น (ประยูร, 2007)

ยูนิกซ์ (Unix) เป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1969 โดยบริษัทเอทีแอนด์ที เพื่อใช้กับเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มแรกจะถูกใช้เพื่องานวิจัยหรือเพื่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ต่อมาได้ถูกนำมาใช้ในทางธุรกิจและเป็นที่นิยมแพร่หลายจนมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากยูนิกซ์เป็นระบบปฏิบัติการแบบระบบหลายผู้ใช้ (multi-user system) และสนับสนุนการทำงานแบบระบบหลายภารกิจ (multitasking) ที่เปิดโอกาสผู้ใช้สามารถดำเนินงาน (run)ได้มากกว่าหนึ่งงานในเวลาเดียวกัน และเนื่องจากเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยภาษาซี (ดวงแก้ว สวามิภักดิ์, 2521, หน้า 11-13 )

ลินุกส์ (Linux) เป็นชื่อของระบบปฏิบัติการ (operating system: OS) ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ ดอส (DOS) วินโดวส์ 95 (Windows 95) วินโดวส์ เอ็นที (Windows NT) โอเอสทู (OS/2) และยูนิกซ์ (Unix) แต่จะมีลักษณะการทำงานและโครงสร้างเช่นเดียวกับระบบยูนิกซ์มาก ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัย จำนวนมากที่สอนระบบยูนิกซ์โดยใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ในทดลอง เพราะมีค่าใช้จ่ายถูก ลินุกซ์ถูกออกแบบมาให้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ใช้หน่วยประมวลผลกลางหรือซีพียู


แบบที่ให้ใช้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ
เป็นเว็บโฮสติ้งที่บริการฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เช่น
htt://www. thcity.com
htt://www. thaicool.com
htt://www. thaiinfonet.com
htt://www. thainame.net
htt://www. pantown.com เป็นต้น
ส่วนใหญ่อยู่ได้จากการได้ค่าโฆษณา มีหลายรายให้บริการฟรีอยู่ช่วงระยะหนึ่ง จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นคิดค่าบริการแทนเนื่องจากรายได้จากการโฆษณาไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ดังนั้นรายชื่อผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งฟรีอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ

การเลือกเว็บโฮสติ้ง
- ภาษาที่ใช้พัฒนา ซึ่งก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าภาษาที่ใช้ในการพัฒนานั้นหลักๆ ก็จะมีอยู่ 2 ภาษา คือ PHP กับ ASP ก็ขึ้นอยู่กับความผู้ที่ต้องการใช้งานโฮสนั้นมีความรู้ทางภาษาด้านไหนก็เลือกใช้งานโฮสที่รองรับการทำงานของภาษานั้น เนื่องจากถ้าโปรแกรมมีปัญหาหรือมีข้อขัดข้องผู้ใช้งานก็สามารถที่จัดการแก้ไข ปรับปรุงเองได้ แต่ในขณะเดียวกันนอกจากภาษา PHP กับ ASP แล้วก็ยังจะมีภาษาอื่นๆ อีก เช่น Java, python, perl หรือ xml

- ปริมาณเนื้อที่ในการจัดเก็บข้อมูล โดยในส่วนนี้ผู้ใช้งานก็จะต้องดูรายละเอียดของข้อมูลเว็บโฮสติ้งแต่ละรายว่าให้เนื้อที่เท่าไร ซึ่งตรงนี้ผู้ที่ต้องการใช้งานก็จะต้องกำหนดแบบแผนหรือรูปแบบของเว็บก่อนว่าจะเว็บประเภทใดออกมา เว็บนั้นมีเนื้อหาประเภทใด เพื่อที่จะให้ประมาณเนื้อที่ที่ต้องการใช้งานได้และจะได้เลือกปริมาณตามที่ต้องการจากผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งได้

- ฐานข้อมูล ในการทำเว็บไซต์นั้นก็คงจะหนีเรื่องของการเก็บข้อมูลไม่พ้น ซึ่งก็ต้องใช้ฐานข้อมูลและก็จะแตกต่างกันตามประเภทของเว็บโฮสติ้งที่ใช้งาน โดยถ้าเป็น Linux หรือ FreeBSD ฐานข้อมูลที่นิยมใช้ก็คือ MySQL ส่วนทางฝั่ง Windows ฐานข้อมูลที่นิยมใช้ก็จะเป็น Access หรือ MS SQL ทั้งนี้ก็จะต้องดูฟีเจอร์หรือข้อกำหนดของผู้ให้บริการว่าจะให้ใช้งานแบบใด และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องทราบก็คือ จำนวนฐานข้อมูลที่สร้างได้ เนื่องจากบางครั้งผู้ใช้งานมีความจำเป็นที่ต้องสร้างฐานข้อมูลมากกว่า 1 ฐานข้อมูลเพื่อที่จะใช้ในการเก็บข้อมูล เพราะโฮสบางรายจะให้สร้างได้เพียง 1 ฐานข้อมูล บางรายให้สร้างได้ 5 ฐานข้อมูลบางรายให้สร้างได้ไม่จำกัด ก็ให้เลือกตามความต้องการใช้งาน

- Data Transfer / เดือน คือ อัตราในการถ่ายโอนข้อมูลต่อเดือน หรือเรียกอีกอย่างว่าจำนวนข้อมูลที่วิ่งเข้าออกระหว่าเว็บไซต์ของเราและผู้ใช้งาน ซึ่งส่วนมากก็จะมีหน่วยเป็น GB/เดือน

- Operating System Platform เป็นรูปแบบของระบบปฏิบัติการที่ตัวโฮสใช้งานจะมีอยู่ 2 ระบบปฏิบัติการใหญ่ๆ ที่ใช้งานกันก็คือ Windows หรือ Linux (FreeBSD) ซึ่งจะเป็นการบอกตัวระบบการทำงานของโฮสด้วย ซึ่งถ้าโฮสที่ใช้ Windows เป็นระบบปฏิบัติการ นั่นก็หมายความว่าตัวภาษาที่ใช้งานก็จะเป็น ASP หรือ ASP.Net และ PHP ซึ่งตัว PHP นั้นก็จะเป็นส่วนที่ลงเสริมเข้าไปให้สามารถทำงานได้ ส่วนโฮสที่ใช้ Linux (FreeBSD) เป็นระบบปฏิบัติการภาษาที่ใช้งานก็จะเป็น PHP ส่วนในเรื่องของฐานข้อมูลนั้น โฮสที่ใช้ Windows เป็นระบบปฏิบัติการสามารถใช้งานฐานข้อมูลได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น Access, MS SQL, Oracle หรือแม้แต่ MySQL สำหรับรองรับการทำงานของ PHP เป็นต้น ส่วนโฮสที่ใช้ Linux (FreeBSD) ตัวฐานข้อมูลที่นิยมใช้งานมากที่สุดก็จะเป็น MySQL

- AntiVirus / Spam Filter เป็นส่วนของฟังก์ชันเพิ่มเติมที่จะช่วยป้องกันไวรัสที่จะมาทำลายระบบของเราหรือการ Spam ของข้อความที่ไม่พึงประสงค์และเพื่อป้องกันการยิงเว็บไซต์ด้วย ซึ่งส่วนมากแล้วโฮสทุกโฮสก็จะให้อยู่แล้วแต่ประสิทธิภาพในการทำงานและการหมั่นตรวจสอบดูแลอาจจะไม่เท่ากัน เนื่องจากบ้างครั้งก็จะต้องเฝ้าดูพฤติกรรมของคนเล่นอินเทอร์เน็ตด้วยว่าเข้ามาด้วยจุดประสงค์อะไร มีแพ็คเกจแปลกๆ เข้ามาหรือไม่อันจะเป็น บ่อเกิดให้โฮสของเรา เกิดความเสียหายได้

- Web Based Email ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเมลล์ ซึ่งนั่นหมายถึง โฮสที่ผู้ใช้งานจะไปใช้งานนั้นมีบริการเมลล์ด้วยหรือไม่ โดยการทำงานของเมลล์นั้นก็จะเป็นลักษณะของเว็บเพจ จึงได้เรียกว่า Webmail ก็เหมือน Hotmail, Yahoo นั่นแหละ ซึ่งส่วนมากแล้วโฮสที่จะไปเช่านั้นก็จะมีเนื้อที่ของเมลล์มาให้อยู่แล้ว ซึ่งเนื้อที่นั้นก็จะรวมกับเนื้อที่ของตัวเว็บไปด้วย เรียกว่าเป็นโฮสแบบแชร์นั่นเอง เช่น ผู้ใช้งานเช่า โฮสเนื้อที่ 200MB ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในพื้นที่ 200MB นั้นเป็นเนื้อที่ในการเก็บเนื้อหาของเว็บและเนื้อที่ของเมลล์ด้วยรวมกับ 200MB ซึ่งถ้าโฮสในมีบริการ WebMail ก็จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถอ่านเมลล์จากคนอื่นๆ ที่ส่งมาหายังผู้ที่ทำเว็บได้ โดยที่จะมีชื่อสกุลเป็นชื่อเว็บที่ได้จดทะเบียนไว้เช่น จดทะเบียนไว้ชื่อ www.webweb.com ก็อาจจะใช้เมลล์ว่า mail@webweb.com ก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นการสื่อการกับผู้ที่เข้ามาชมได้ดีอีกส่วนหนึ่งด้วย

- Sub Domain เป็นชื่อย่อยๆ ของเว็บไซต์ที่สร้างขึ้น ซึ่งก็จะเหมาะสมสำหรับองค์กรหรือมหาวิทยาลัยที่มีหลายๆ แผนก เช่น องค์กร A จดทะเบียนไว้ชื่อ www.webweb.com แล้วมีแผนกย่อย คือ sale, marketing, support เป็นต้น ซึ่งแผนกเหล่านี้ก็มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง การที่จะไปจดทะเบียนใหม่เลยก็จะทำให้เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายได้ จึงต้องสร้างชื่อย่อยๆ ลงมาภายในองค์กรนั้น ซึ่งแผนก sale ก็จะได้เป็น sale.webweb.com, แผนก marketing ก็จะได้เป็น marketing.webweb.com และแผนก support ก็จะได้เป็น support.webweb.com ซึ่งก็จะเห็นว่าองค์กรเดียวกันนั้นก็จะมีชื่อเว็บไซต์ที่เหมือนๆ กัน แต่ต่างกันที่แผนก ซึ่งก็จะทำให้การจดจำและการบริหารจัดการทำได้ง่าย โดยถ้าโฮสตัวไหนที่ผู้ใช้งานไปเช่า ไม่มีฟีเจอร์นี้ก็ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ที่ต้องการใช้งานมากกว่า

- Backup หรือการสำรองข้อมูล ซึ่งปกติการทำเว็บไซต์นั้นผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องข้อมูลหรือเนื้อหาของเว็บก็จะเป็นผู้ที่จัดทำที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง แต่ส่วนนี้เรียกว่าเป็นของแถมสำหรับผู้เช่าโฮสดีกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้บริการเช่าโฮสนั้นมีฟีเจอร์นี้หรือไม่ เช่นจะมีการสำรองข้อมูลเก็บไว้ให้ผู้เช่าเป็นกรณีพิเศษ นอกจากการ Backup Time ปกติของเครื่องเซิรฟ์เวอร์ เช่น อาจจะมีการไรท์ลงแผ่น DVD ส่งมาให้ผู้เช่าทุกๆ เดือน เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการดีที่ทำให้ผู้ที่ไปเช่ามีความปลอดภัยของข้อมูลในระดับหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ถ้ามีก็อาจจะมีการค่าบริการเพิ่มขึ้นก็ให้ผู้เช่าเว็บโฮสติ้งนั้นทำการตรวจสอบราคาของผู้ให้บริการแต่ละรายด้วยว่ามากน้อยเพียงใด คุ้มค่าต่อการใช้งานหรือไม่

- FTP access ในการอัพโหลดข้อมูลขึ้นไปยังเว็บไซต์หนทางที่สะดวกที่สุดก็คือการใช้บริการผ่านระบบ FTP เพราะจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงานและขนย้ายไฟล์จำนวนมากๆ ได้ดี ถ้าโฮสไหนที่มีบริการอัพโหลดข้อมูลผ่านตัว Browser นั้นบอกได้เลยว่า ไม่ขอแนะนำ เพราะจะทำให้การทำงานนั้นล่าช้าและเกิดความไม่สะดวกเอามากๆ ซึ่งการอัพข้อมูลผ่านระบบ FTP นั้นก็ใช้โปรแกรม FTP Client ทั่วๆ ไปตามแต่ความถนัดของตนเอง เช่น WS-FTP, Cute FTP

- File Manager เป็นตัวจัดการไฟล์ผ่านหน้าเว็บ ซึ่งตรงนี้ก็จะคล้ายๆ การใช้โปรแกรม FTP หรือ Windows Explorer แต่จะมีการทำงานผ่านทางเว็บไซต์หรือออนไลน์ (Online) ได้ทันที แต่ในการใช้งานด้วยตัว File Manager นั้นก็จะต้องมีข้อที่ควรระวังอย่างหนึ่งก็คือ ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตถ้าช้ามากๆ ก็จะทำให้การโอนไฟล์มีปัญหาได้ แต่ไม่ใช่เฉพาะ File Manager เท่านั้นโปรแกรมประเภท FTP ก็มีปัญหา แต่การทำงานบางอย่างจะสะดวกกว่าเพราะโปรแกรม FTP ทำงานที่เครื่อง ไคส์เอ็นส์ ซึ่งถ้าโฮสมีตัว File Manager มาให้ก็จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกอีกทางหนึ่งด้วย

- คอมโพเน้นท์ต่างๆ ในการเลือกที่จะเช่าโฮสมาทำเว็บไซต์นั้นก็จะต้องศึกษาหรือสอบถามทางโฮสก่อนว่ามีคอมโพเน้นท์อะไรให้ใช้งานบ้าง เนื่องจากในการทำเว็บไซต์ของเรานั้นอาจจะต้องใช้คอมโพเน้นท์มาเสริมการทำงานด้วย ซึ่งคอมโพเน้นท์ส่วนมากนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะคอมโพเน้นท์ของภาษา ASP ส่วนภาษา PHP นั้นส่วนหนึ่งก็จะฟรีเป็นส่วนมาก แต่บางส่วนก็จะต้องซื้อเหมือนกัน ซึ่งในการที่จะเช่าโฮสก็ต้องดูว่ามีคอมโพเน้นท์อะไรบ้างให้มีมากที่สุดเท่าที่การใช้งานของผู้ใช้นั้นจะมีความจำเป็น เช่น aspSmartUpload, AspEmail หรือบางโฮสที่เป็น PHP ก็จะมีตัวเว็บสำเร็จรูปอย่าง Gallery Photo Album, PHP-Nuke หรือ Mambo มาให้ด้วย เพื่อที่จะให้ผู้ใช้งานใช้งานได้อย่างสะดวกและไม่ต้องติดตั้งเองทั้งหมดก็ทำให้เกิดความสะดวกและความรวดเร็วในการทำเว็บไซต์

- Database Control Panel / ODBC เป็นส่วนของการจัดการฐานข้อมูลที่ใช้ในเว็บไซต์ของผู้เช่าโฮส ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโฮสที่รองรับการใช้งานภาษาใดไม่ว่าจะเป็น ASP หรือ PHP ก็จะต้องมีตัวช่วยจัดการ ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยสร้างฐานข้อมูล เพิ่ม ลบ หรือแก้ไข ข้อมูลเป็นต้น เนื่องจากจะทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้นซึ่งในการเช่าผู้เช่าก็จะต้องสอบถามให้ละเอียดถี่ถ้วน แต่ถ้าเว็บไซต์ที่ทำไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล ในส่วนนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ให้มีไว้ก่อนเพื่อที่จะสามารถอัพเกรดต่อไปได้ในอนาคต

- รองรับระบบ WAP ในส่วนนี้ก็เป็นฟังก์ชันที่น่าสนใจเหมือนกันสำหรับการทำเว็บไซต์สำหรับองค์กร เนื่องจากระบบ WAP นั้นจะมีการใช้งานตาม PDA หรือโทรศัพท์มือถือ

- Web Site Stat ส่วนนี้ถือได้ว่าน่าจะเป็นบริการฟรีสำหรับผู้ที่เช่าเว็บไซต์ เนื่องจากโฮสนั้นจะต้องมีให้อยู่แล้วโดยอัตโนมัติ ซึ่งถ้ามีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อใช้งานก็จะต้องไปดูที่รายละเอียดก่อนว่ามีฟีเจอร์หรือฟังก์ชันอะไรที่เพิ่มขึ้นมาบ้าง แล้วน่าสนใจมากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้าเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้วไม่มีฟีเจอร์อะไรที่โดดเด่นน่าสนใจ ก็สามารถใช้ตัว stat ฟรีจากเว็บไซต์ที่ให้บริการฟรีได้

- รองรับระบบ SSL ถือว่าเป็นอีกส่วนที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการทำเว็บไซต์ให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องการทำร้านค้าหรือทำเว็บไซต์เก็บข้อมูล เนื่องจากระบบ SSL เป็นระบบเข้ารหัสเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งถ้าโฮสที่ผู้เช่าอยู่จะทำงานทางด้านนี้ก็จะต้องให้มีระบบนี้ด้วยเพื่อที่จะให้เว็บไซต์ที่ทำมีความปลอดภัย

- การปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์/แบ๊กอัพข้อมูล ในส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานไปเช่าอยู่ที่โฮสอาจจะไม่ได้มีการแบ๊กอัพไว้ที่เครื่องตนเองตลอดเวลา เนื่องจากอาจจะทำการอัพเดตเว็บไซต์แบบออนไลน์ ถ้าที่โฮสมีระบบแบ๊กอัพไว้ให้ด้วยก็จะเป็นการดี หรือบางโฮสก็อาจจะมีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มนิดหน่อยเพื่อที่จะเก็บแบ๊กอัพไว้ลงซีดี โดยในการใช้งานผู้ใช้ก็ต้องศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วนด้วย

- ระบบการย้ายโดเมน เป็นอีกลูกเล่นหนึ่งของผู้เช่าโฮส ซึ่งส่วนมากแล้วผู้ที่ให้บริการเช่าโฮสก็จะทำการรับจดโดเมนด้วยไปในตัวเพื่อที่จะให้ผู้ใช้งานนั้นมีข้อมูลอยู่ที่เดียวทำให้ง่ายต่อการจัดการ แต่สำหรับผู้ใช้งานแล้วอาจจะไม่พอใจในบางส่วนเช่น ผู้ให้บริการรายนี้ทำโฮสเช่าพื้นที่ไม่ดี ระบบล่มบ่อย แต่ดูแลโดเมนดีก็อาจจะไปใช้โฮสที่อื่น ซึ่งส่วนมากแล้วผู้ที่รับเช่าโฮสก็จะมีบริการย้ายโดเมนของตนเองเพื่อง่ายต่อการจัดการ ผู้ที่จะเช่าโฮสน่าจะมีพื้นที่โฮสและโดเมนอยู่ที่เดียวกัน

- บริการหลังขาย บริการหลังขายจะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้งานประทับใจในตัวสินค้าหรือโฮสไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีปัญหาแล้วสามารถรับแก้ปัญหาได้ทันท่วงที สามารถปรึกษาหารือเรื่องโฮสได้ ก็จะทำให้เกิดความประทับใจ และไม่ถือว่าเป็นการทิ้งลูกค้า

- รายชื่อลูกค้าตัวอย่าง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่จะมาใช้งานส่วนหนึ่งซึ่งก็จะต้องดูว่ามีหน่วยงานหรือบริษัทไหนมาที่จะใช้งานบ้างก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นได้ แต่ก็จะต้องดูด้วยว่าเป็นชื่อโดเมนที่จดมาแอบอ้างหรือไม่ เมื่อคลิกเข้าไปแล้วก็ล่มหรือดูไม่ได้


บทสรุป

เว็บโฮสติ้ง คือ เป็นรูปแบบการให้บริการ ที่ให้ผู้ใช้สามารถนำเว็บเพจของตน
ขึ้นไปออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้าดูได้ตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถเข้าดูได้ทุกที่
ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้ใช้บริการต้องทำการจดโดเมนเนม เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ
เว็บไซต์ เว็บโฮสติ้ง มี 2 รูปแบบ คือ แบบเสียค่าบริการและแบบที่ให้บริการฟรี
การเลือกใช้เว็บโฮสติ้งต้องศึกษารายละเอียดหลายๆ ประการ เช่น ภาษาที่ใช้ ปริมาณเนื้อที่
ฐานข้อมูลในการทำเว็บไซต์ ฟังก์ชั่นต่างๆ และบริการหลังการขาย

1 ความคิดเห็น:

จิรชยา สุขมหา กล่าวว่า...

โอวว ละเอียดดีม๊ากากก คะ

พอดี เป็นคนที่เพิ่งเริ่มศึกษา อยากทำเวป
แต่ยังไม่รู้อะไรมากมาย
ได้อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น เยอะๆ เลย

ขอบคุณมากนะคะ